วันที่ 14 กันยายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะฯ ซึ่งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตามที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมาย
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะฯ ได้เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงชั่วคราว มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งในช่วง 3 วัน ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ามาพักอาศัยกว่า 800 คน พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ฯ ทีมแพทย์ พยาบาล อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ร่วมให้บริการและดูแลในศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ
หลังจากนั้น รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและร่วมแจกจ่ายอาหารสำเร็จรูป อาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ที่จำเป็น ฯลฯ ในจุดบริการช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ และชุมชนต่าง ๆ ที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ บ้านปางลาว บ้านป่ากุ๊ก บ้านสันปอแตง บ้านป่าสักไก่ ตำบลบ้านดู่ บ้านสันตาลเหลือง ตำบลริมกก บ้านเวียงกือนา บ้านฟาร์มสัมพันธกิจ บ้านเมืองงิม บ้านริมงาม บ้านใหม่กือนา ตำบลริมกก บ้านแม่ข้าวต้ม บ้านสันต้นแฟน บ้านก๊อตยาว บ้านใหม่บัวแดง บ้านป่าซางหัวฝาย บ้านทรายมูล ตำบลแม่ข้าวต้ม
อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะฯ ในฐานะตัวแทน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แจ้งถึงความห่วงใยและแสดงความชื่นชมการปฏิบัติภารกิจในการร่วมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวเชียงรายที่ประสบอุทกภัย จากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเสนอว่าควรต้องมีการถอดบทเรียนรูปแบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่สามารถเป็นต้นแบบ เพื่อส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสามารถเตรียมความพร้อมและวางแผนในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีดังเช่นรูปแบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย